anna (Administrator) |
|
เป็นสมาชิกเมื่อ : 18/3/2552 |
โพสต์ : 83 |
|
|
4 มิถุนายน 2552 - 09:34:41 น. |
|
|
น่าน ดอยภูคา ดอยเสมอดาว ผาชู้ ภูชี้ฟ้า ดอยผาตั้ง ดอยผาหม่น น้ำตกภูซาง 3 วัน 4 คืน ท่านละ 5,500 บาท ทัวร์น่าน พระธาตุแช่แห้ง ดอยภูคา ผาชู้ ผาหัวสิงห์ บ่อเกลือ ออกด่านห้วยโก๋น ทริปนี้เป็นทริปยาว ๆ ทริปหนึ่ง ที่ผมได้เดินทางไปทั้งหมด 3 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน การเดินทางครั้งนี้ผมได้เตรียมตัวในการเดินทางประมาณ 1 เดือน แล้ว ป้อมปี่ได้ชักชวนผม และสมาชิกร่วมเดินทางอีก 7 ท่าน ซึ่งเป็นเป็นกลุ่มพยาบาลสาว โดยมีกับตันคุก เป็นคนขับรถตู้ให้กับพวกเรา ในทริปหารเฉลี่ยครั้งนี้ ผมจัดเจอกับป้อมปี่ที่หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โดยมีกับตันคุกมารับเราสองคนเป็นจุดแรก จากนั้นจึงเดิทางไปรับเหล่าพยาบาลที่กรุงเทพฯ พวกเราออกเดินทางจากกรุงเทพ ประมาณ 1 ทุ่ม ผ่าน จ.อยุธยา จ.อ่างทอง จ.สิงห์บุรี จ.นครสวรรค์ จ.พิษณุโลก จ.อุตรดิตถ์ จ.แพร่ เข้าสู่ จ.น่าน โดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ไปถึงอำเภอเวียงสา เลี้ยวขวาไปตามถนนเจ้าฟ้า ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1026 จากอำเภอเวียงสาไปอำเภอนาน้อย ใช้เส้นทางหมายเลข 1083 ขับเข้ามาประมาณ 35 กม. ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติศรีน่านและผาชู้ โดยเสียค่าบัตรผ่านเข้าอุทยานประมาณคนละ 30 บาท พวกเรามาถึงผาชู้ตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อชมทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นที่ผาชู้ ซึ่งอยู่ที่เดียวกับที่ทำการอุทยานแห่งชาติศรีน่านแห่งนี้ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 จัดเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 104 ของประเทศ
อุทยานแห่งชาติศรีน่านมีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่อำเภอนาหมื่น อำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ครอบคลุมพื้นที่ตามแนวสองฟากฝั่งลำน้ำน่าน จนไปสิ้นสุดที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ สภาพป่าเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ เทือกเขาสูงสลับซับซ้อน วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ที่สำคัญของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของประชาชนในจังหวัดน่าน มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญหลายอย่าง และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มีจุดเด่นทางธรรมชาติ ที่มีทิวทัศน์ที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ 640,237.50 ไร่ หรือ 1,024.38 ตารางกิโลเมตร ผาชู้ มีจุดชมวิว และจุดชมทะเลหมอกที่สวยงาม มองทางด้านทิศตะวันออก จะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนวางตัว ในแนวทิศเหนือใต้ขนานกัน ทางช่วงตอนกลางของภูเขา ระหว่างด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกจะเป็นร่องน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสายน้ำน่านทอดตัวไหล ผ่าน ระยะทางประมาณ 60 กม.
หลังจากที่ได้เพลิดเพลินกับความสวยงามของทะเลหมอก และพระอาทิตย์ในยามเช้าแล้ว ที่ผาชู้แล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ที่สวยงามไม่แพ้กัน ได้แก่ดอยเสมอดาวและผาหัวสิงห์ ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 5 กม. ดอยเสมอดาวและผาหัวสิงห์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน โดยเป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้าท่ามกลางทะเลหมอกที่สวยงามแห่งหนึ่ง และยังสามารถเห็นวิวทิวทัศน์ของแม่น้ำน่านที่ทอดยาวในหุบเขา รวมทั้งเห็นยอดผาชู้ที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมมาพักค้างแรมที่ ดอยเสมอดาวแห่งนี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นลานกว้างตั้งอยู่บนเขา สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้กว้างไกล และที่สำคัญจุดนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถชมผาหัวสิงห์ ที่ตระหง่านเป็นจุดเด่นบนดอยเสมอดาวแห่งนี้
หลังจากได้ชมความงามแล้ว พวกเรายังมีโปรแกรมไปทานอาหารเช้าที่ตัวเมืองน่าน และเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ อีก ซึ่งระหว่างที่เราจะเดินทางออกจากอำเภอนาน้อย พวกเราจึงแวะเที่ยวชมเสาดินนาน้อยก่อน โดยห่างจากเส้นทางหมายเลข 1083 ขับเข้ามาประมาณ 10 กม. ก็จะถึงเสาดินนาน้อย หรือ ฮ่อมจ๊อม สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ ก่อนที่จะมีชื่อเรียกเสาดิน คนโบราณหรือผู้เฒ่าผู้แก่หลายชั่วอายุคน ต่างก็เรียกชื่อสถานที่แห่งนี้ไปต่าง ๆ นานา บางคนเรียก ” เด่นปู่เขียว ” บางคนก็เรียก ” เด่นอีบด ” ที่เขาเรียกชื่อนี้เพราะช่วงที่ดินเริ่มถูกน้ำกัดเซาะพังทลาย ก็มีคนชื่อปู่เขียว หรืออีบด ไปนั่งใกล้กับที่ดินพังทลายก็เลยถูกดินถล่มลงมาถมตาย ผู้คนจึงเรียกติดปาก ต่อมาถูกน้ำกัดเซาะลงมาเรื่อย ๆ นานเข้าจึงเกิดเป็นเสาดิน ต่อมาจากนั้นชื่อเด่นปู่เขียว หรือเด่นอีบด จึงเริ่มหายไป “ เสาดิน ” จึงกลายเป็นชื่อที่เรียกกันติดปากจนถึงทุกวันนี้
พวกเราแวะถ่ายรูป และชมความอัศจรรย์ซักพักใหญ่จึงออกเดินทางต่อทันที เพื่อที่จะไปทานอาหารกลางวัน ที่ร้านอาหารใกล้กับวัดพระธาตุแช่แห้ง จากนั้นจึงจะเข้าสักการะพระธาตุแช่แห้งต่อ หลังจากอิ่มกับอาหารมื้อเช้า และมื้อก่อนเที่ยงแล้ว พวกเราก็เดินทางเข้าสักการะพระธาตุแช่แห้งต่อทันที วัดพระธาตุแช่แห้ง หมู่ 3 บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตี๊ด กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เดิมเป็นวัดราษฎร์ ปัจจุบันเป็น พระอารามหลวง ประดิษฐานอยู่ ณ กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ย ๆ เป็นสีทองสุกปลั่ง สามารถมองเห็นได้แต่ไกล เนื่องจากสูงถึง 2 เส้น เป็น อนุสรณ์ ของความรักและความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยในอดีต หลังจากพวกเราได้สักการะองค์พระธาตุแช่แห้งแล้ว พวกเราจึงเดินทางต่อไปยัง วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวัดหลวงประจำเมืองที่เจ้าเมืองใช้เป็นสถานที่ ประกอบพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนา และพิธีสำคัญของบ้านเมือง ตำนานการสร้าง พงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า เจ้าผู้ครองนครน่าน ชื่อ พญาภูเข่ง หรือภูเข็ง เป็นผู้สร้าง เมื่อปีจุลศักราช 768 ตรงกับ พ.ศ. 1949 เรียกชื่อในครั้งนั้นว่า วัดหลวง ตามหลักฐาน ดังกล่าวนี้ พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ เป็นบูชนียสถานสำคัญที่เป็นประธานของวัด ตั้งอยู่ในเขต พุทธาวาสตรงแนวตะวันตกด้านหลังวิหารหลวง ก่อเป็นเจดีย์สวมพระบรมธาตุไว้ภายใน ชาวบ้านเรียกว่า พระธาตุหลวง สัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา สูงตั้งแต่พื้นดินถึงยอด 16 วา 2 ศอก องค์เจดีย์ก่ออิฐถือปูน ชั้นล่างสุดยกขึ้นไป ประมาณ 5 วา ฐานชั้นที่ 2 ทำรูปช้างโผล่หน้าลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าคู่ยืนพ้นออกมา นอกเหลี่ยมฐานลักษณะรองรับฐานชั้นที่ 2 ไว้ เฉพาะช้างที่อยู่ตรงมุมทั้ง 4 ด้าน ประดับ เครื่องอลังการตรงบริเวณตระพองและรอบคอเป็นพิเศษ แตกต่างจากช้างเชือกอื่น ๆ ที่อยู่ด้านหลัง ซึ่งมิได้ตกแต่งประดับประดาสิ่งใด เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ซ้อนกัน 3 ชั้น และเป็นองค์ระฆังลังกาที่ปรากฏอยู่ทางเหนือทั่วไปเหนือองค์ระฆังทำเป็นฐานเบียง รองรับมาลัยลูกแก้ว ซึ่งลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นส่วนยอด ตรงยอดทำเป็นปลี ภาษาเหนือ เรียกว่า มานข้าว หุ้มด้วยทองจังโก้สวมยอดฉัตร หลังจากพวกเราได้สักการะพระธาตุช้างค้ำแล้ว พวกเราจึงเดินทางต่อไปยังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน เพื่อชมงามช้างดำ
งาช้างดำมีลักษณะเป็นงาปลียาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบตรงส่วนใหญ่ที่สุด 47 เซนติเมตร โพรงตอนโคนลึก 14 เซนติเมตร สีออกน้ำตาลเข้มไม่ดำสนิท มีจารึกอักษรล้านนาภาษาไทยว่า “กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน” หรือประมาณ 18 กิโลกรัม สันนิษฐานว่าเป็นงาข้างซ้ายเพราะมีรอยเสียดสีกับงาชัดเจน ความเป็นมาของงาช้างดำนี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัด มีเพียงตำนานเล่าสืบต่อกันมา 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 กล่าวว่าในสมัยพระเจ้าสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน (พ.ศ.2353-2368) มีพรานคนเมืองน่านได้เข้าป่า ล่าสัตว์เข้าไปถึงเขตแดนระหว่างไทยกับเชียงตุงได้พบซากช้างตัวดำสนิทตายในห้วย พอดีกับพรานชาวเชียงตุงมาพบด้วยพรานทั้งสองจึงแบ่งงาช้างดำกันคนละข้าง ต่างคนก็นำมาถวายเจ้าเมือง ต่อมาเจ้าเมืองเชียงตุง ได้ส่งสารมาทูลเจ้าสุมนเทวราชว่า ตราบใด งาช้างดำคู่นี้ไม้สูญหาย เมืองน่านกับเมืองเชียงตุงจะเป็นมิตรไมตรีกันตลอดไป เรื่องที่ 2 กล่าวว่าเมืองน่านยกทัพไปล้อมเมืองเชียงตุงหลายเดือน ทำให้ชาวเมืองเชียงตุงเดือดร้อนโหรเมืองเชียงตุงทูลเจ้าเมืองว่าเป็นเพราะมีงาช้างดำอยู่ด้วยกัน ทางที่ดีควรแยกออกจากกัน จึงนำงาช้างดำกิ่งหนึ่งมอบให้กองทัพเมืองน่านแล้วกระทำสัตย์สาบานเป็นมิตรกันตลอดกาล ความสำคัญของงาช้างดำนี้เชื่อกันว่า พญาการเมือง เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 6 ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ได้ทำพิธีสาปแช่ง เอาไว้ว่า ให้งาช้างดำนี้เป็นของคู่บ้านคู่เมืองน่านตลอดไป ผู้ใดจะนำไปเป็นสมบัติส่วนตัวมิได้ ต้องไว้ที่หอคำหรือวังเจ้าผู้ครองนครเท่านั้น งาช้างดำเป็นวัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่านและถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของจังหวัดน่าน เป็นวัตถุโบราณที่หายากและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมาก ใครที่เข้าไปชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน ต้องเสียค่าธรรมเนียมท่านละ 20 บาท โดยเปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 - 16.00 น. และภายในพิพิธภัณฑ์ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป ดังนั้นจึงมีรูปมาฝากไม่มากครับ เอาไว้ไปชมกันเอาเองละกันครับ ตอนนี้เวลาปาเข้าไปบ่ายโมงพวกเราจึงออกเดินทางต่อไปยังอุทยานแห่งชาติดอยภูคาต่อทันที
พวกเราไปตาม ทางหลวงหมายเลข 1080 ถึงอำเภอปัว ระยะทาง 60 กม. แยกไปตามทางหลวงหมายเลข 1256 (ปัว-บ่อเกลือ) ขับเข้าไปอีกประมาณ 25 กม. ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่จะเก็บค่าธรรมเนียมขาเข้าคนละ 30 บาท แต่พวกเราไม่ต้องเสียเข้าอุทยานครับ เพราะบัตรเข้าชมอุทยานแห่งชาติศรีน่านเมื่อเช้านี้สามารถใช้เที่ยวได้ภายในวันนี้ทั้งวัน พวกเราแวะชมลานดูดาว ซึ่งมีธรรมชาติที่ร่มเย็น และสวยงามแล้ว ก็เดินทางไปชมต้นภูคาต่อ แต่เมื่อไปถึงดอกยังไม่บานเลย พวกเราจึงแวะสักการะพระยาภูคาก่อน แล้วจึงเดินทางต่อไปบ่อเกลือ
อ.บ่อเกลือ เป็นอำเภอหนึ่งที่ผลิตเกลือสินเธาว์ (ภูเขา) แต่เดิมเรียกว่าเมืองบ่อ ซึ่งหมายถึงบ่อเกลือสินเธาว์ ที่มีอยู่ในพื้นที่จำนวน 9 บ่อ คือ บ่อหลวง ตั้งอยู่บ้านบ่อหลวง บ่อหยวก และบ่อตอง ตั้งอยู่บ้านหยวก ปัจจุบันชาวบ้านในระแวกนี้มีอาชีพผลิตเกลือสินเธาว์เป็นหลัก นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสามารถชมวิธีการผลิตเกลือสินเธาว์ที่ยังมีให้เห็นอยู่ หลังจากที่ได้ชมวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ผลิตเกลือสินเธาว์แล้ว พวกเราจึงออกเดินทางไปหาที่พักใน อ.เฉลิมพระเกียรติ ต่อเพราะตอนนี้ประมาณเกือบ 4 โมงเย็นแล้ว แต่เราต้องเดินทางอีกประมาณ 100 กว่ากิโลเมตร ซึ่งต้องวิ่งอยู่เส้นทางบนภูเขา ก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
อ.เฉลิมพระเกียรติ เป็นอำเภอที่มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มากนัก ร้านค้า และที่พักอาศัยของประชาชนก็มีให้เห็นอย่างบางตา พวกเราเดินทางมาถึง อ.เฉลิมพระเกียรติ ก็ปาเข้าไปเกือบ 6 โมงเย็นแล้ว แต่ยังไม่มีที่พักเลย กัปตันคุก ขับรถตระเวนหาที่พัก ก็เจออยู่ที่หนึ่ง เป็นเหมือนห้องแถวสองชั้น มีประมาณ 6 ห้อง แต่เจ้าของบอกว่าเต็มแล้ว และที่นี่ไม่มีที่พักอื่น
เจ้าของที่พักแนะนำให้พวกเราไปพักที่ค่ายทหาร ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ทหารกลางแจ้งฐานห้วยโก๋น พวกเราได้ยินดังนั้นจึงกล่าวคำขอบคุณ และเดินทางเข้าไปทางซอยที่ติดกับโรงพยาบาลที่ด่านห้วยโก๋น ประมาณ 2 กม. จึงถึงพิพิธภัณฑ์ทหารกลางแจ้งฐานห้วยโก๋น วันที่เราไป มีทหารประจำการอยู่ 5 นาย ด้วยกัน พวกเราติดต่อขอพักที่นี่ครับ ทางพี่พี่ ที่เป็นทหารก็ยินดีให้พวกเราพักครับ โดยจัดเตรียมห้อง และผ้าห่มให้พวกเราครับ พวกเราถามถึงค่าใช้จ่าย ทางพี่ทหารบอกว่าแล้วแต่จะใส่ในตู้ช่วยบำรุงสถานที่ครับ แต่เย็นนี้พวกเรายังไม่มีอะไรตกถึงท้องเลย จึงสอบถามพี่ทหารว่ามีที่ร้านอาหารที่ไหนบ้าง ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ มีอยู่ที่เดียวที่ด่านห้วยโก๋นนั่นแหละ (ด่านห้วยโก๋น ห่างจากพิพิธภัณฑ์ทหารกลางแจ้งฐานห้วยโก๋นประมาณเกือบ 5 กม.) พี่ทหารอาสาเป็นธุระในการสั่งอาหารให้ เพราะช่วงกลางคืนจะเงียบมาก ร้านค้าก็จะปิดร้านตั้งแต่หัวค่ำ มื้อนี้พวกเราจึงได้มีโอกาสทานอาหารกับพี่ ๆ เหล่าทหารครับ
หลังจากอิ่มกันแล้วผมกับป้อมปี่ยังไม่นอนครับ นั่งทำงานจนเกือบเที่ยงคืน ก็รู้สึกถึงอากาศที่เย็นมาก คืนนี้จึงไม่ได้อาบน้ำครับเพราะน้ำเย็นเจี๊ยบ เลยเข้านอนทันที ผมกับป้อมปี่ไม่ได้นอนในบ้านพักครับ เพราะสาว ๆ เข้าไปนอนกันต็มสองหลัง ส่วนผมกับป้อมปี่ไปนอนในตาข่ายมุ้งเขียว กันยุงได้ดีแต่ไม่สามารถกันความหนาวได้ครับ คืนนี้ผมกับป้อมปี่เลยนอนไม่ค่อยหลับซักเท่าไร รุ่งเช้าผมออกมาเดินถ่ายรูปบริเวณที่เป็นสถานที่เคยรบกันระหว่างทหารไทยที่ด่านห้วยโก๋น กับกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ด่านห้วยโก๋น ตามข้อมูลที่ผมได้อ่านก็พอทราบว่าเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2514 กลุ่มคอมมิวนิสต์ประมาณ 200 คน วางกำลังหวังจะเข้าตีฐาน โดยทหารไทยมีกำลังประมาณ 64 นาย โดยกำลังที่มากกว่าได้ยึดฐาน ห้วยโก๋น 1 ใน 3 ของพื้นที่บริเวณที่จอดฮอ จนเวลาประมาณ 05.20 น. กำลังของหทารไทยเหลือน้อย จึงได้ทำการร้องขอยิงปืนใหญ่ชนวนแตกอากาศเหนือบริเวณฐาน ทำให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีที่กำบัลศีรษะ จนเวลา 08.00 น. กำลังทางอากาศได้ยิงสกัดกั้นเส้นทางที่กลุ่มคอมมิวนิสต์ใช้ถอนตัว ทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้น เราเสียทหารผู้กล้าจำนวน 17 นาย เป็นนายทหาร 2 นาย นายสิบ4 นาย พลทหารอีก 11 นาย และมีทหารบาดเจ็ดอีก 31 นาย ส่วนผู้ก่อการร้ายคาดว่าเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 30 คน และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก หลังจากได้อ่านข้อมูลแล้วก็ทำให้รู้สึกภูมิใจที่มีเหล่าทหารผู้กล้าเป็นรั้วของชาติไทยครับ
จนเวลาเกือบ 7.30 น. พวกเราเก็บสัมภาระ แล้วมอบเงินค่าบำรุงที่พักให้แก่เจ้าหน้าที่ พวกเราออกจากพิพิธภัณฑ์ทหารกลางแจ้งฐานห้วยโก๋น มาประมาณ 5 กม. ก็มาถึงด่านห้วยโก๋น พวกเราสั่งอาหารเช้าทานกันก่อน และใส่กล่อง เพื่อเป็นอาหารกลางวันอีกด้วย ที่บริเวณด่านห้วยโก๋น ซึ่งมีร้านอาหารเพียงร้านเดียว เมื่อถึงเวลา 08.00 น. เจ้าหน้าที่ก็มาปฏิบัติงานตามปรกติ พวกเรานำเอกสารไปยื่นฝั่งขาออกประเทศไทยที่ด่านห้วยโก๋น ฝั่งตรวจคนเข้าเมืองไทย โดยเอกสารที่ใช้ได้แก่ สำเนาทะเบียนรถ พาสปอร์ตรถ พาสปอร์ตคน เพื่อมุ่งหน้าสู่ ไปพักที่เมืองหลวงพระบาง
เมื่อทำเรื่องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งไทยแล้ว ขับรถไปประมาณ 2 กม. พวกเราก็ต้องทำเรื่องเข้าประเทศลาว ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งลาว โดยต้องยื่นเอกสารเหมือนต้องที่ยื่นทางฝั่งไทย จากนั่นก็เสียภาษี และต้องทำประกันภัยรถยนต์ฝั่งทางลาวด้วย โดยค่าประกันภัยประมาณ 360 บาท ต่อคัน
<<อ่านต่อหน้า 2>> |
ปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 - 11:02:30 น. |
|
|