อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอเมือง อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งทะเล มีความงดงามของทิวทัศน์ ชายฝั่ง และทิวทัศน์เหนือผิวน้ำ อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าชายเลน ประกอบด้วยเกาะทางด้านทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ตประมาณ 40 เกาะ และเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น เขาพิงกัน เขาตะปู ถ้ำลอด รวมทั้งหาดทรายสวยงาม อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงามีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 250,000 ไร่ หรือ 400 ตารางกิโลเมตร
ในปี พ.ศ. 2522 กองอุทยานแห่งชาติจึงได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งบริเวณอ่าวพังงาเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2523 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2523 ได้มีมติเห็นชอบกำหนดอ่าวพังงาเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินอ่าวพังงา ในท้องที่ตำบลกระโสม ตำบลกะไหล ตำบลคลองเคียน อำเภอตะกั่วทุ่ง ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมือง และตำบลเกาะยาวน้อย ตำบลเกาะยาวใหญ่ กิ่งอำเภอเกาะยาว อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา มีเนื้อที่ประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 1-2 เล่ม 98 ตอนที่ 64 เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524 ภายใต้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 25 ของประเทศไทย
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะโครงสร้างและธรณีสัณฐานของดินแดนภาคใต้ฝั่ง ตะวันตก เป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับแนวทิวเขาแกรนิต ที่เรียกว่า ทิวเขาตะนาวศรี และทิวเขาภูเก็ต อันเป็นเส้นกั้นพรมแดนไทย-พม่า ที่ทอดยาวไปจนถึงจังหวัดพังงา-ภูเก็ต เป็นทิวเขาที่เกิดในยุคครีตาเชียสกับยุคเทอร์เชียรีตอนต้น อายุประมาณ 136-36 ล้านปีมาแล้ว ภูมิสัณฐานและภูมิประเทศทั่วไปของบริเวณนี้ ยังเป็นผลมาจากลักษณะโครงสร้างที่เรียกว่า รอยเลื่อน มีชื่อทางธรณีว่า รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย และรอยเลื่อนพังงา
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหิน (รอยคดโค้ง-รอยเลื่อน) ของหินแกรนิต นำเอาแร่ธาตุที่มีค่ามาสะสมตกผลึก เช่น แร่ดีบุก ตะกั่ว วุลแฟรม เหล็ก พลวง แมงกานีส แบไรต์ ฟลูออไรต์ และทองคำ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของภูมิภาคนี้ นอกจากนั้นยังมีภูเขาหินตะกอน หินแปร แทรกสลับอยู่เป็นแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเขาหินปูนซึ่งแทรกโผล่เป็นหย่อมๆ กระจายอยู่ทั่วไป ทั้งภูเขาหินปูนที่เป็นแนวเทือกเขาสลับซับซ้อนหรือภูเขาหินปูนลูกโดด และยังปรากฏว่ามี ซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) อีกการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดังกล่าวทำให้เกิดเป็นช่อง โพรงหรือถ้ำมากมาย
ส่วนภูเขาหินดินดานบางแห่งสลายตัวกลายเป็นหย่อมเนินเขาขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง การยุบตัวของแผ่นดินทางด้านตะวันตกทำให้เกิดเป็นชายฝั่งขรุขระ เว้าๆ แหว่งๆ เกิดเป็นอ่าวและเกาะซึ่งเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด กระจายอยู่ตามฝั่งมากมาย โดยเฉพาะในเขตจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง และสตูล โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เป็นท้องทะเล พื้นทะเลเป็นดินเลน โคลน และทราย เป็นส่วนใหญ่ มีภูเขาหินปูน โผล่อยู่กลางน้ำ กระจายทั่วบริเวณอ่าวพังงา มีลักษณะสวยงาม โดดเด่น รูปร่างแปลกๆ มากมาย ประกอบไปด้วย เกาะน้อยใหญ่ ประมาณ 42 เกาะ เช่น เกาะเขาเต่า เกาะพระอาตเฒ่า ฯลฯ ซึ่งแต่ละเกาะก็จะมีสภาพธรรมชาติที่แตกต่างกันไปและมีความ สวยงามเฉพาะตัว
ลักษณะภูมิอากาศ
ส่วนภูเขาหินดินดานบางแห่งสลายตัวกลายเป็นหย่อมเนินเขาขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง การยุบตัวของแผ่นดินทางด้านตะวันตกทำให้เกิดเป็นชายฝั่งขรุขระ เว้าๆ แหว่งๆ เกิดเป็นอ่าวและเกาะซึ่งเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด กระจายอยู่ตามฝั่งมากมาย โดยเฉพาะในเขตจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง และสตูล โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เป็นท้องทะเล พื้นทะเลเป็นดินเลน โคลน และทราย เป็นส่วนใหญ่ มีภูเขาหินปูน โผล่อยู่กลางน้ำ กระจายทั่วบริเวณอ่าวพังงา มีลักษณะสวยงาม โดดเด่น รูปร่างแปลกๆ มากมาย ประกอบไปด้วย เกาะน้อยใหญ่ ประมาณ 42 เกาะ เช่น เกาะเขาเต่า เกาะพระอาตเฒ่า ฯลฯ ซึ่งแต่ละเกาะก็จะมีสภาพธรรมชาติที่แตกต่างกันไปและมีความ สวยงามเฉพาะตัว
พรรณไม้และสัตว์ป่า
สังคมพืชในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
ป่าชายเลน จำแนกได้ดังนี้
ป่าชายเลนบริเวณเขาหินปูน พบว่า มีชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในป่าชายเลนมากถึง 12 ชนิด ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบ ต้นจาก ซึ่งขึ้นอยู่บริเวณริมน้ำ หรือที่ค่อนข้างเป็นดินเลนเป็นจำนวนมาก และเหงือกปลาหมอ ส่วนปรงทะเล พบน้อยมากบริเวณที่โล่ง หรือบริเวณที่ป่าถูกทำลายเท่านั้น
ป่าชายเลนบริเวณเขาหินเซลล์และควอทไซท์ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ พบ 7 ชนิด ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว เป็นต้น สำหรับพันธุ์ไม้พื้นล่างอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เหงือกปลาหมอ ซึ่งขึ้นอยู่หนาแน่น
ป่าชายเลนบริเวณเขาหินทราย ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในบริเวณนี้มีน้อยมาก ทั้งนี้เนื่อง จากบริเวณนี้อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ พันธุ์ไม้สำคัญที่พบมี 5 ชนิดได้แก่โกงกางใบเล็ก ลำแพน แสม ตะบูนขาว และฝาด นอกจากนี้มักพบเสม็ด ในบริเวณที่ติดกับป่าบกซึ่ง น้ำมีความเค็มค่อนข้างต่ำ
ป่าบก ที่พบเป็นป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ ซึ่งจัดเป็นป่าดิบชื้น จำแนกได้ดังนี้
ป่าบกที่ขึ้นบนพื้นที่เขาหินปูน พบอยู่กระจัดกระจายทั่วไป มี 2 ประเภท ได้แก่ ป่าที่ ขึ้นอยู่บนบก พื้นที่ค่อนข้างราบ และบริเวณทีเรียกว่า Karst ซึ่งเป็นบริเวณหุบเขา ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ขี้หนอน เหรียง ตะเคียนหิน และชุมเห็ด สำหรับไม้พื้นล่าง จะขึ้นอยู่หนาแน่น พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เต่าร้าง เคย ลำเพ็ง นอกจากนี้ยังมี พวกหญ้า ปาล์ม และว่านชนิดต่างๆ อีกประเภทได้แก่ ป่าที่ขึ้นอยู่บนที่สูงค่อนข้างชื้น ของเขาหินปูน ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่มีขนาดเล็ก ค่อนข้างเตี้ย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตะเคียนหิน เขากวาง เป็นต้น
ป่าบกที่ขึ้นอยู่บนพื้นที่เขาหินเชลล์ ควอทไซท์ พันธุ์ไม้ขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ใน บริเวณที่ลุ่มตามเชิงเขาที่มีความชื้นค่อนข้างสูงจะพบไม้ยางนา ขึ้นอยู่กระจัดกระจาย และพบพันธุ์ไม้อื่นที่สำคัญได้แก่ มังตาล พังกา เฉียงพร้านางแอ เป็นต้น สำหรับไม้ พื้นล่างพบพวก ไผ่ป่า พังแหร หญ้า ฯลฯ
ป่าบกที่ขึ้นอยู่บนหินทราย พบบนพื้นที่ค่อนข้างลาดมีไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น ไม่ค่อยสูง นัก ไม้พื้นล่างไม่หนาแน่น อาจเป็นเพราะขาดความ อุดมสมบูรณ์ของดิน พันธุ์ไม้ที่ สำคัญได้แก่ สตอตั๊กแตน พังกา แค เป็นต้น สำหรับไม้พื้นล่างปรากฏอยู่น้อยมากส่วน ใหญ่เป็นจำพวกหญ้า
สังคมพืชน้ำ จำแนกได้เป็น สาหร่ายสีน้ำตาล สีแดง สีเขียว นอกจากนี้ยังมีพวกหญ้าทะเล แพลงก์ตอนพืชจำนวนมากมาย
สัตว์ป่า จากการสำรวจสามารถจำแนกได้ดังนี้
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จากการสำรวจพบมากถึง 27 ชนิด ได้แก่ ลิงแสม ค่างแว่นถิ่นใต้ ชะนีธรรมดา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำ ที่สำคัญได้แก่ โลมาขาว โลมาหัวขวดมาลายู โลมาหัวบาตรหลังเรียบ
นก จากการสำรวจพบนกทั้งสิ้น 120 ชนิด ที่สำคัญได้แก่ นกยางเขียว นกยางทะเล นกยางเปีย เป็นต้น
สัตว์เลื้อยคลาน พบทั้งสิ้น 26 ชนิดได้แก่ เต่าหับ กิ้งก่าบินปีกสีส้ม งูสร้อยเหลือง เป็นต้น
สัตว์สะเทิ้นสะเทิ้นบก พบ 4 ชนิด ได้แก่ กบน้ำเค็มหรือกบน้ำกร่อย กบหนอง กบนาหรือ กบเนื้อ เขียดปาด เป็นต้น
ปลา ประกอบด้วย ปลาฉลาม ปลากระเบน ปลาไหลทะเล ปลากระบอก ปลาปักเป้าทะเล ปลาที่อาศัยอยู่บริเวณแหล่งปะการังหลายชนิด เช่น ปลาในสกุลปลาผีเสื้อ ปลามีค่าทาง เศรษฐกิจหลายพันธุ์ เช่นปลาในสกุลปลาทู
สัตว์ประเภทอื่น ได้แก่ สัตว์ประเภทกุ้ง หอย ปู และสัตว์ชั้นต่ำประเภทไม่มีกระดูกสันหลัง จำพวกปะการังอีกหลายชนิด ได้แก่ ปะการังพุ่มไม้ ปะการังเขากวาง
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
เขาเขียน อยู่ระหว่างเส้นทางไปเกาะปันหยี มีภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการสำรวจศึกษา พบว่าภาพเขียนสีเหล่านี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี ภายในภาพเขียนจะมีรูปสัตว์ชนิดต่างๆและรูปเรือ.
เกาะทะลุนอก เป็นเขาหินปูน มีถ้ำทะลุ คล้ายๆ ถ้ำลอดใหญ่ แต่มีขนาดเล็กกว่า เรือสามารถแล่นลอดผ่านได้ เช่นเดียวกับ ถ้ำลอดใหญ่ และเป็นจุดพายเรือแคนูที่มีนักท่องเที่ยวนิยมกันมากแห่งหนึ่งในอ่าวพังงา
เกาะพนัก เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่กว่าเกาะห้อง อยู่ระหว่างเส้นทางเดินเรือ จากภูเก็ต – พังงา ประกอบด้วยถ้ำต่าง ๆ ที่มีความสวยงาม เช่น ถ้ำค้างคาว ถ้ำโกงกาง ถ้ำไอศครีม และถ้ำปีนที่มีลักษณะเป็นทะเลใน โดยในการเข้าสู่ทะเลในต้องใช้เรือซีแคนูเพียงอย่างเดียว จึงจะเข้าไปได้ มีความลึกตั้งแต่ 50–150 เมตร
เกาะละวะใหญ่ เป็นเกาะขนาดเล็ก ซึ่งมีหาดทรายที่ขาวสะอาด สามารถเดินทางโดยเรือ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ หรือสามารถลงเรือได้ที่ท่าเทียบเรือบ้านคลองเคียน ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่มีความสวยงาม และมีร้านอาหารสวัสดิการของอุทยานฯไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว และมีปะการังน้ำตื้นอยู่โดยรอบ
เกาะห้อง มีลักษณะเป็นเขาหินปูน มีหินงอกหินย้อยที่มีความสวยงาม คล้ายห้องหลายๆ ห้อง เรียงต่อกันเป็นแถว มีพันธุ์พืชและสัตว์ป่าชนิดต่างๆ จำนวนมาก สามารถเข้าไปชมทัศนียภาพได้ โดยการจอดเรือบริเวณหน้าเกาะและใช้เรือซีแคนูเข้าไปชมบริเวณภายในถ้ำ และรอบๆเกาะซึ่งมีความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
เขาตาปู – เขาพิงกัน เป็นจุดที่เรือทุกลำจะจอดให้นักท่องเที่ยวแวะชมและถ่ายภาพ เป็นที่รู้จักของชาวต่างประเทศ เพราะเป็นฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องเจมส์บอนด์
เขาหมาจู อยู่ระหว่างเส้นทางไปเกาะปันหยี เป็นภูเขาหินปูนที่มีขนาดเล็ก สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลเมื่อเรือแล่นผ่าน เขาหมาจู มีลักษณะเหมือนสุนัขพันธุ์พุดเดิ้ล
ถ้ำลอด เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 50 เมตร เรือสามารถลอดผ่านได้ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม ระหว่างการเดินทางไปยังถ้ำลอดจะผ่านป่าชายเลน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ผืนหนึ่งของประเทศไทย
เกาะปันหยี เป็นหมู่บ้านชาวประมง ซึ่งก่อสร้างบนพื้นที่น้ำทะเลท่วมถึง บ้านถูกสร้างยกระดับให้พ้นการขึ้น- ลง ของน้ำทะเล บริเวณหมู่บ้านอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวปันหยีเป็นชุมชนชาวประมงดั้งเดิม ประกอบอาชีพประมงน้ำตื้น โดยการทำประมงอวนลอย โป๊ะ เลี้ยงหอยแครง เลี้ยงปลากระชัง ปัจจุบันเกาะปันหยีเป็นชุมชนที่รองรับนักท่องเที่ยว โดยได้ทำการปรับปรุงบ้านอยู่อาศัยเดิมบางส่วนเป็นร้านอาหารและจำหน่ายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว
สิ่งอำนวยความสะดวก
บ้านพัก ลานกางเต๊นท์ ห้องประชุม ร้านอาหาร ท่าเรือ ท่าเทียบเรือ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 80 หมู่ 1 บ้านท่าด่าน ต.เกาะปันหยี อ. เมืองพังงา จ. พังงา 82000
โทรศัพท์ : 076-411136, 076-412188 โทรสาร : 076-413791
ผู้บริหาร : วิกรานต์ ทั่วด้าว ตำแหน่ง : เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 7
|
รถยนต์
ท่านสามารถนำรถยนต์ส่วนตัวเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปตามถนนเพชรเกษม ( ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 4) ไปจนถึงจังหวัดพังงา ระยะทางประมาณ 850 กิโลเมตร ( 11 ชั่วโมง) และเดินทางมุ่งหน้าไปสู่อำเภอตะกั่วทุ่ง จนถึงทางแยก เข้าทางหลวงจังหวัด หมายเลข 4144 ไปอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา โดยห่างจากทางแยก ประมาณ 2.5 กิโลเมตร
เครื่องบิน
ท่านสามารถเดินทางไปยังท่าอากาศยานกรุงเทพ และโดยสารเครื่องบินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติ จังหวัดภูเก็ต ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที แล้วเดินทางโดยรถยนต์อีก ประมาณ 61 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง เมื่อถึงจังหวัดพังงา โดยสารรถยนต์ (รถสองแถว) สายพังงา-ท่าด่าน ระยะทาง 9 กิโลเมตร
เรือ
ท่านสามารถเหมาเรือหรือติดต่อบริษัทนำเที่ยว ได้ที่ท่าเรือบ้านท่าด่าน อำเภอเมืองพังงา หรือท่าเรือสุระกุล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา โดยมีอัตราการจ้างเหมาเรือ ดังนี้
ผู้โดยสาร จำนวน 2 - 4 คน เป็นเงิน 800 บาท
ผู้โดยสาร จำนวน 5 - 10 คน เป็นเงิน 1,000 บาท
ผู้โดยสาร จำนวน 11 - 15 คน เป็นเงิน 1,500 บาท
รถไฟ
ท่านสามารถขึ้นรถไฟได้ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ เดินทางไปถึงสถานีรถไฟ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วขึ้นรถโดยสารประจำทางอีกประมาณ 160 กิโลเมตร ( 3 ชั่วโมง) เดินทางไปถึงจังหวัดพังงา
รถโดยสารประจำทาง
ท่านสามารถเดินทางโดยขึ้นรถยนต์ปรับอากาศ ลิกไนท์ทัวร์ หรือ รถ บขส. เส้นทาง พังงา-กรุงเทพฯ ได้ที่สถานีขนส่งสายใต้ กรุงเทพฯ ในอัตรา 441 บาท ( สำหรับรถยนต์ 32 ที่นั่ง) และอัตรา 685 บาท (สำหรับรถยนต์ 24 ที่นั่ง) ระยะทางประมาณ 850 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 11 ชั่วโมง เมื่อเดินทางถึงสถานีขนส่ง จังหวัดพังงา แล้วเดินทางโดยรถประจำทาง(รถสองแถว) อีกประมาณ 9 กิโลเมตร ในราคาประมาณ 20 บาท/คน |