อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คือ อำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีเนื้อที่ประมาณ 191,875 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 เป็นพื้นที่ที่มีธรรมชาติแปลกตาและสวยงาม ทั้งยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ เป็นยุทธภูมิสำคัญในอดีตของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
ภูหินร่องกล้ามีลักษณะภูมิอากาศคล้ายกับภูเขาสูงของจังหวัดเลย เช่น ภูกระดึงและภูเรือ เนื่องจากมีความสูงในระดับไล่เลี่ยกัน อากาศจะหนาวเย็นเกือบตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูหนาว อุณหภูมิจะต่ำประมาณ 4 องศาเซลเซียส แม้ในฤดูร้อนอากาศก็ยังเย็นสบาย อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 18-25 องศาเซลเซียส
แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ มีทั้งด้านประวัติศาสตร์และด้านธรรมชาติ ดังนี้
ด้านประวัติศาสตร์
พิพิธภัณฑ์การสู้รบ เป็นที่ตั้งของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯ จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการสู้รบในอดีต มีสภาพแผนภูมิข้อมูล อุปกรณ์การแพทย์ อาวุธ เอกสารเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมทั้งนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาภูหินร่องกล้า นอกจากนี้ ยังมีห้องประชุมสำหรับบรรยายสรุปหรือประชุมสัมมนา
โรงเรียนการเมืองการทหาร ตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 4 เป็นหมู่อาคารไม้ภายใต้ร่มเงาของป่ารกครึ้ม เป็นที่ตั้งของคณะกรรมการเขต 3 จังหวัด คือ จังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดพิษณุโลกเมื่อปี พ.ศ.2513 และต่อมาในปี พ.ศ.2520 ได้ก่อตั้งเป็นโรงเรียนซึ่งให้การศึกษาตามแนวทางลัทธิคอมมิวนิสต์
กังหันน้ำ อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนการเมืองการทหาร เป็นกังหันน้ำขนาดใหญ่ ถูกสร้างขึ้นจากการผสมผสานความคิดก้าวหน้าทางวิชาการกับการนำประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้งาน โดยนักศึกษาวิศวะที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
สำนักอำนาจรัฐ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่ดำเนินการด้านปกครอง มีการพิจารณาและลงโทษผู้กระทำผิดหรือละเมิดต่อกฎลัทธิ มีคุกสำหรับขังผู้กระทำความผิด มีสถานที่ทอผ้า และโรงซ่อมเครื่องจักรกลหลงเหลืออยู่
โรงพยาบาลรัฐ อยู่ห่างจากสำนักอำนาจรัฐไปทางทิศเหนือ ประมาณ 2 กิโลเมตร เคยเป็นโรงพยาบาลกลางป่าที่มีอุปกรณ์ในการรักษาพยาบาลครบครัน มีห้องปรุงยา ห้องพักฟื้น และห้องผ่าตัด โรงพยาบาลแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2519 สามารถทำการรักษาพยาบาลและผ่าตัดอวัยวะได้ทุกส่วน ยกเว้นหัวใจ มีหมอและพยาบาลที่ผ่านการอบรมหลักสูตรเร่งรัดจากประเทศจีน ในปี พ.ศ. 2522 ได้เพิ่มแผนกทำฟัน และวิจัยยา เครื่องมือที่ใช้ส่วนใหญ่ได้จากในเมือง มีการรักษาด้วยวิธีฝังเข็มและใช้สมุนไพรด้วย
ลานอเนกประสงค์ เป็นบริเวณลานหินกว้างใหญ่ อยู่ก่อนถึงสำนักอำนาจรัฐ ใช้เป็นที่พักผ่อนและสังสรรค์ในหมู่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ
สุสาน ทปท. เป็นสถานที่ฝังศพของนักรบทหารปลดแอกแห่งประเทศไทย (ทปท.) ที่เสียชีวิตจากการสู้รบกับทหารฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้บริเวณลานอเนกประสงค์
ที่หลบภัยทางอากาศ เป็นสถานที่หลบซ่อนตัวจากการทิ้งระเบิดทางอากาศของทหารฝ่ายรัฐบาล ลักษณะพื้นที่เป็นหลืบหินหรือโพรงถ้ำใต้แนวต้นไม้ใหญ่ ทำให้ยากต่อการตรวจการณ์ทางอากาศ สถานที่หลบภัยมีอยู่หลายแห่งแต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ 2 แห่ง คือ บริเวณห่างจากโรงเรียนการเมืองการทหารราว 200 เมตร ลักษณะเป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่ มีซอกหลืบสลับซับซ้อน จุคนได้ถึง 500 คน และอีกแห่งหนึ่งบริเวณทางเข้าสำนักอำนาจรัฐ เป็นหลืบขนาดใหญ่สามารถจุคนได้ประมาณ 200 คน
หมู่บ้านมวลชน เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มมวลชนแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ มีอยู่หลายหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านดาวแดง หมู่บ้านดาวชัย แต่ละหมู่บ้านมีบ้านประมาณ 40-50 หลัง เรียงรายอยู่ในป่ารกริมถนนที่ตัดมาจากอำเภอหล่มเก่า ลักษณะบ้านเป็นบ้านไม้หลังเล็ก ๆ ไม่ยกพื้น หลังคามุงด้วยไม้กระดานแผ่นบาง ๆ กันน้ำฝนได้อย่างดี และมีหลุมหลบภัยทางอากาศอยู่ด้วย
ด้านธรรมชาติ
ลานหินแตก อยู่ห่างจากฐานพัชรินทร์ ประมาณ 300 เมตร ลักษณะเป็นลานหินที่มีอาณาบริเวณประมาณ 40 ไร่ ลานหินมีรอยแตกเป็นแนวเป็นร่องเหมือนแผ่นดินแยก รอยแตกนี้บางรอยก็มีขนาดแคบพอคนก้าวข้ามได้ แต่บางรอยก็กว้างจนไม่สามารถจะกระโดดข้ามไปถึง สำหรับความลึกของร่องหินแตกนั้นไม่สามารถจะคะเนได้ ลักษณะเช่นนี้สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการโก่งตัว หรือเคลื่อนตัวของผิวโลก จึงทำให้พื้นหินนั้นแตกออกเป็นแนว นอกจากนี้บริเวณลานหินแตกยังปกคลุมไปด้วยมอส ไลเคน ตะไคร่ เฟิร์น และกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ
ลานหินปุ่ม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมหน้าผา ลักษณะเป็นลานหินซึ่งมีหินผุดขึ้นมาเป็นปุ่ม เป็นปม ขนาดไล่เลี่ยกัน คาดว่าเกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติของหิน ในอดีตบริเวณนี้ใช้เป็นที่พักฟื้นคนไข้ของโรงพยาบาล เนื่องจากอยู่บนหน้าผา มีลมพัดเย็นสบาย
ผาชูธง อยู่ห่างจากลานหินปุ่มประมาณ 500 เมตร เป็นหน้าผาสูงชัน สามารถเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล จะสวยงามมากในยามพระอาทิตย์ตกดิน บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ซึ่ง ผกค. ขึ้นไปชูธงแดงรูปค้อนเคียวทุกครั้งที่รบชนะฝ่ายรัฐบาล
น้ำตกร่มเกล้า-น้ำตกภราดร ห่างจากโรงเรียนการเมืองการทหารและกังหันน้ำประมาณ 600 เมตร มีทางแยกเดินลงน้ำตกร่มเกล้า ประมาณ 400 เมตร หากเดินลงไปอีก 200 เมตร จะเป็นน้ำตกภราดรซึ่งมีลักษณะคล้ายกันและอยู่บนลำธารเดียวกัน น้ำตกภราดรมีความสูงน้อยกว่าแต่กระแสน้ำแรงกว่า
น้ำตกศรีพัชรินทร์ ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แก่ทหารค่ายศรีพัชรินทร์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นทหารหน่วยแรกที่ขึ้นมาบนภูหินร่องกล้า น้ำตกศรีพัชรินทร์มีความสูงประมาณ 20 เมตร บริเวณน้ำตกมีแอ่งขนาดใหญ่ สามารถลงเล่นน้ำได้
น้ำตกหมันแดง เป็นน้ำตกที่มีความสูง 32 ชั้นในห้วยน้ำหมันซึ่งมีน้ำตลอดปี ต้นน้ำเกิดจากยอดเขาภูหมัน น้ำตกแต่ละชั้นตั้งชื่อคล้องจองกันตามสภาพลักษณะที่สวยงามแปลกตา ห้อมล้อมด้วยป่าดงดิบอันสมบูรณ์ การเดินทาง จากที่ทำการอุทยานฯ ใช้เส้นทางสายภูหินร่องกล้า-หล่มเก่า ถึงหลักกิโลเมตรที่ 18 มีทางแยกซ้ายเป็นทางเดินเท้าเข้าสู่น้ำตก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร เส้นทางผ่านป่าร่มครึ้มมีกล้วยไม้ป่า ต้นเมเปิ้ล และทุ่งหญ้า
น้ำตกผาลาด ตั้งอยู่ด้านล่างของหน่วยพิทักษ์ห้วยน้ำไซ ทางเข้าจะผ่านหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง บ้านห้วยน้ำไซ เข้าสู่เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน จากทางแยกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงทางแยกซ้ายมือ เดินลงไปอีกประมาณ 50 เมตร ก็จะถึงตัวน้ำตก เป็นน้ำตกซึ่งไม่สูงนักแต่มีน้ำตลอดปี
น้ำตกตาดฟ้า เป็นน้ำตกที่สูงมาก ทางเข้ายังไม่สะดวกนักต้องเดินทางไปตามถนนลูกรังประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นจึงไปตามทางเดินในป่าอีกประมาณ 300 เมตร ถึงด้านบนของน้ำตก และต้องไต่ลงไปตามทางเดินเล็กๆ จึงจะมองเห็นความสวยงามของน้ำตกตาดฟ้าหรือเรียกชื่อพื้นเมืองว่า “น้ำตกด่าน-กอซาง” ซึ่งหมายถึงด่านตรวจของ ผกค. ที่มีกอไม้ไผ่ซาง
ธารพายุ เป็นจุดชมวิวบริเวณกิโลเมตรที่ 32 เส้นทางภูหินร่องกล้า-หล่มเก่า สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของภูเขาและทะเลหมอกได้อย่างสวยงาม มีสวนรัชมังคลาภิเษกสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ
อัตราค่าเข้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า นักท่องเที่ยว ชาวไทย ผู้ใหญ่ ราคา 40 บาท เด็ก ราคา 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ ราคา 400 บาท เด็ก ราคา 200 บาท
สถานที่พัก ทางอุทยานฯ มีบ้านพักไว้สำหรับนักท่องเที่ยว ประมาณ 23 หลัง ราคา 800-2,400 บาท, ค่ายพักแรม พักได้ 15 คน ราคา 1,500 บาท และมีเต็นท์ให้เช่า ราคา 200-600 บาท
สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า โทร. 055-233527 หรือสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. 02-5620760
เว็บไซต์ www.dnp.go.th
|
การเดินทาง ไปยังอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้ามีสองเส้นทาง คือ
1. จากพิษณุโลกใช้ทางหลวงหมายเลข 12 สายพิษณุโลก-หล่มสัก ถึงสามแยกบ้านแยง แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2013 มีป้ายบอกทางแยกขวาไปอำเภอนครไทย ก่อนถึงตัวอำเภอนครไทย มีทางแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2331 ผ่านบ้านห้วยตีนตั่ง-บ้านห้วยน้ำไซ-ฐานพัชรินทร์ สู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า สภาพเส้นทางสูงชัน คดเคี้ยวเป็นบางช่วง รวมระยะทางจากพิษณุโลก 120 กิโลเมตร
2. จากเพชรบูรณ์ตามทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านอำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า บ้านวังบาล บ้านเหมืองแบ่ง บ้านแม้วทับเบิก ถึงอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า รวมระยะทางประมาณ 104 กิโลเมตร เป็นทางลาดยาง ค่อนข้างสูงชันกว่าเส้นทางแรกและคดเคี้ยวมาก ควรใช้รถสภาพดีมีกำลังสูงและใช้ความระมัดระวังอย่างมาก
ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีรถสองแถวบริการขึ้นภูหินร่องกล้า รถจะจอดอยู่บริเวณตลาดสมใจ มีรถขึ้นภูหินร่องกล้าเวลา 08.00 น., 10.00 น. และ 14.00 น. ค่าเช่าเหมาไป-กลับ (ค้างคืน) 1,300 บาท ค่าเช่าเหมาไป-กลับ (ไม่ค้างคืน ) 800-900 บาท |