บ้านพระยาวิชิตสงคราม ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเรือ ถนนเทพกระษัตรี ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ห่างจากตัวเมืองประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต ช่วงปี พ.ศ. 2395 - 2425 กบฎอั้งยี่ชาวจีน ประวัติและผลงานของพระยาวิชิตสงคราม
ประวัติของพระยาวิชิตสงคราม หรือ พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ทัด) เป็นเจ้าเมืองภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ. 2393 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 สืบเชื้อสายมาจากพระยาถลาง (เจิม) ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ และเป็นบุตรชายของพระภูเก็ต (แก้ว) เมื่อพระยาวิชิตสงครามเป็นเจ้าเมืองภูเก็ตสืบต่อจากบิดา ได้ย้ายเมืองมาอยู่ที่ตำบลทุ่งคา (อยู่ทางตอนใต้ของเกาะภูเก็ต) เนื่องจากบริเวณนี้เป็นแหล่งแร่ดีบุกที่อุดมสมบูรณ์ ต่อมาเมืองภูเก็ตเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าเมืองถลาง จึงได้รับการยกฐานะเป็นหัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2405 พระยาวิชิตสงครามได้ชักชวนพ่อค้าชาวจีนมาลงทุนทำกิจการค้าและเหมืองแร่ในภูเก็ต ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจของเมืองภูเก็ตเจริญมั่งคั่งกว่าหัวเมืองอื่น ๆ ในแถบนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดเหตุจลาจลวุ่นวายหลายครั้ง เนื่องจากการทะเลาะวิวาทของกรรมกรเหมืองแร่ชาวจีน หรือพวกอั้งยี่ เพื่อแย่งชิงแหล่งแร่ดีบุกและสายน้ำล้างแร่ พระยาวิชิตสงครามจึงย้ายบ้านและศาลาว่าการไปอยู่ที่บ้านท่าเรือในที่ดินของพระยาถลาง (เจิม) โดยสร้างกำแพงและป้อมปราการป้องกันอย่างแข็งแรง พระยาวิชิตสงครามได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าภาษีอากรรับผูกขาดผลประโยชน์ในเมืองภูเก็ตทั้งหมด ต้องแข่งขันประมูลภาษีในอัตราที่สูงมากด้วยคาหมายว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีมาส่งให้รัฐบาลได้ทันตามกำหนด แต่ต่อมาไม่นานราคาดีบุกในตลาดโลกตกต่ำ ในปี พ . ศ . 2425 พระยาภูเก็ต (ลำดวน) ซึ่งเป็นลูกชายไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ทันจึงต้องคืนการจัดเก็บภาษีให้กับรัฐบาล รัฐบาลจึงแต่งตั้งให้พระยาภูเก็ต (ลำดวน) เป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บภาษี แต่เนื่องจากได้ติดค้างเงินภาษีไว้จำนวนมาก จึงถูกปลดออกจากตำแหน่งและส่งตัวไปเร่งรัดภาษีที่กรุงเทพฯ และถูกริบบ้านเรือนและทรัพย์สินต่าง ๆ ในที่สุด
|