อุทยานแห่งชาติรามคำแหง (เขาหลวง จังหวัดสุโขทัย) ครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอบ้านด่านลานหอย และอำเภอคีรีมาศ มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 213,215 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติทางประวัติศาสตร์แห่งแรกของเมืองไทยที่น่าสนใจ และน่าศึกษา เพราะเป็นการอนุรักษ์ป่าที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัยไว้พร้อมกับธรรมชาติ ในสมัยก่อนเรียกป่านี้ว่า ป่าเขาหลวง แต่เมื่อทางการเข้ามาดำเนินการสงวนพื้นที่แห่งนี้ไว้เพื่อประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาตินั้นได้ตั้งชื่อเสียใหม่ว่า รามคำแหง ซึ่งเป็นมงคลนาม เพราะมาจากพระนามของกษัตริย์อัจฉริยะของชาติไทย คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ครองกรุงสุโขทัย เพราะชื่อเดิมนั้น (เขาหลวง) ซ้ำกับ ป่าเขาหลวง ซึ่งเป็นชื่ออุทยานแห่งชาติเขาหลวงที่จังหวัดนครศรีธรรมราช อุทยานแห่งชาติรามคำแหงมีขุนเขาที่สูงเด่นเป็นสง่า คือ
ยอดเขาหลวง ภายในอุทยานฯ สามารถที่จะเห็นสัตว์ป่าได้ เช่น วัวแดง เก้ง หมี หมู่ป่า นกกระเต็น นกนางแอ่ง พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ สัก ตะเคียน เต็ง รัง พืชสมุนไพร ว่าน น้ำตกที่สวยงาม และถ้ำต่างๆ ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เหมาะสำหรับการไปพักผ่อน และได้รับการประกาศแต่ตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติรามคำแหง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2523
ลักษณะภูมิประเทศ และภูมิอากาศ เป็นภูเขาที่สลับซับซ้อน ทอดตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นราบคล้ายจอมปลวกขนาดใหญ่โดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางทุ่งนา สภาพอากาศบนยอดเขาจะหนาวเย็นตลอดปี มีเมฆหมอกปกคลุมมากในช่วงฤดูหนาว และฤดูฝน อุณหภูมิเฉลี่ยโดยประมาณ 12-14 องศาเซลเซียส ช่วงที่อากาศเย็นสบายอยู่ระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม ช่วงที่เหมาะสมสำหรับการเดินทางไปอุทยานฯ เริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ได้แก่
เขาหลวง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,200 เมตร เป็นภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน และมียอดเขาสูงที่สุดอยู่ทางด้าน ทิศใต้ของเมืองสุโขทัย บนยอดเขามีทิวทัศน์ที่สวยงาม ปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าธรรมชาติ ประกอบด้วยยอดเขา 4 ยอดด้วยกัน คือ ยอดเขานารายณ์ สูงจากระดับน้ำทะเล 1,160 เมตร เป็นที่ตั้งของสถานีโทรคมนาคมเขานารายณ์ ของกองทัพอากาศมีเนื้อที่ 25 ไร่ บริเวณเขานารายณ์มีหน้าผาที่สวยงาม และสูงชันเหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อน สามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบเขา ในเวลากลางคืนจะเห็นแสงไฟจากจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก ยอดเขาพระแม่ย่า สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร เดิมเคยเป็นที่ประทับ จำศีลภาวนาของพระแม่ย่า ยอดเขาภูกา สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร และ ยอดเขาพระเจดีย์ สูงจากระดับน้ำทะเล 1,185 เมตร เมื่อมองจากยอดเขาเหล่านี้ลงไปสามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม และจะเห็นทำนบกั้นน้ำที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยที่เรียกว่า สรีดภงค์ และตัวจังหวัดสุโขทัยได้อย่างชัดเจน
ทุ่งหญ้าธรรมชาติ บนยอดเขาจะเป็นทุ่งหญ้าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีเนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ มีหญ้าหลายชนิดขึ้นอยู่รวมกัน และบางชนิดเป็นพืชสมุนไพร
ไทรงาม เป็นต้นไทรขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาได้ลักษณะสวยงาม เหมาะที่จะไปนั่งพักผ่อน อยู่ระหว่างทางขึ้นยอดเขาหลวง
ปล่องนางนาค อยู่ห่างจากไทรงาม 320 เมตร เป็นปล่องธรรมชาติอยู่บริเวณยอดเขามีความกว้างประมาณ 0.5 เมตร ยาวประมาณ 1.5 เมตร ความลึกไม่สามารถวัดได้ ตามตำนานพระร่วงในพงศาวดารเหนือเจ้าเมืองออกมาจำศีลที่เขาหลวงจึงเกิดตำนานเรื่องพระร่วงซึ่งเกี่ยวข้องกับปล่องนางนาคนี้
สมุนไพร และว่าน ในพื้นที่อุทยานฯ มีว่าน และสมุนไพรอยู่หลายชนิด เช่น โด่ไม่รู้ล้ม หอมไกลดง นางคุ้ม หนุมานประสานกาย กำลังเสือโคร่ง เป็นต้น
ประตูประวัติศาสตร์ มีประตูทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ คือ ประตูป่า อยู่ทางทิศเหนือของสวนลุ่ม หรือบริเวณที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ประตูมะค่า อยู่ทางทิศตะวันตก เป็นประตูที่ตั้งอยู่ที่บริเวณเมืองหน้าด่าน ประตูเปลือย อยู่ทางทิศตะวันออกของสวนลุ่ม ตั้งอยู่บริเวณด่านตรวจของอุทยานฯ ประตูพระร่วง อยู่ทางทิศใต้ของสวนลุ่ม และมีเรื่องเล่ามาว่าเป็นประตูที่พระร่วงเข้ามาเล่นว่าว ณ ที่แห่งนี้
สวนลุ่ม หรือสวนลุมพินีวัน เป็นสวนว่านยาสมุนไพรอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่เชิงเขาหลวง ปัจจุบันคือ ที่ตั้งของสำนักงานอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาหลวง
น้ำตกสายรุ้ง อยู่ทางทิศตะวันตกของเขาหลวง เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียง และสวยงาม เกิดจากต้นน้ำบริเวณเขาเจดีย์ มาเป็นลำธารคลองไผ่นาไหลลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทิ้งตัวลงมาจากผาหินที่สูง เมื่อถูกแสงแดดส่องลงมากระทบเข้ากับน้ำเป็นสายทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเป็นสายรุ้งที่มีสีสันสวยงาม มีน้ำตกเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ภายในบริเวณน้ำตกมีหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ อยู่ห่างจากอุทยานฯ 50 เมตร ตัวน้ำตกมีทั้งหมด 4 ชั้น แต่ละชั้นสามารถลงเล่นน้ำได้ โดยต้องเดินเท้าจากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ขึ้นไปตามธารน้ำไหล มีระยะทาง 800 เมตร 900 เมตร 1,160 เมตร และ 1,200 เมตร ตามลำดับ
การเดินทาง จากตัวจังหวัดสุโขทัยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 101 เส้นสุโขทัย-คีรีมาศ พอถึงอำเภอคีรีมาศให้ตรงไปอีกประมาณ 18 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวามือโดยผ่านอำเภอบ้านด่านลานหอยเข้าไป 13 กิโลเมตร แล้วมีทางแยกขวาอีกครั้งให้ตรงเข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ ช่วงระยะเวลาที่สามารถมองเห็นสายรุ้งตั้งแต่เวลา11.00-16.00 น.
รอยพระพุทธบาท ตั้งอยู่เชิงเขาถ้ำพระบาททำด้วยหินชนวนแกะสลักรอยมงคล 108 สร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท อายุประมาณ 600 ปีเศษ
ปรางค์เขาปู่จา เป็นปรางค์ที่ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนภูเขาลูกเล็ก ๆ ใกล้กับอุทยานฯ เป็นศิลปะเขมรสมัย บาปวน สร้างสำหรับคนเดินทางเพื่อใช้ประกอบพิธีทางศาสนา มีอายุประมาณ 1,500 ปีเศษ
ถ้ำพระนารายณ์ เป็นสถานที่ที่เคยพบเทวรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ซึ่งราษฎรที่พบคิดว่าเป็น พระนารายณ์ ปัจจุบันถูกทุบทำลายจนหมดคงเหลือแต่เฉพาะฐานเท่านั้น
ถ้ำพระแม่ย่า เป็นเพิงหินขนาดใหญ่เคยเป็นสถานที่ประดิษฐานรูปปั้นพระแม่ย่า ปัจจุบันได้อัญเชิญไว้ที่ศาล พระแม่ย่าบริเวณศาลากลางจังหวัดสุโขทัย
ถนนพระร่วง เป็นถนนสายประวัติศาสตร์ที่เชื่อมระหว่างเมืองกำแพงเพชรผ่านสุโขทัย จดศรีสัชนาลัย ด้วยระยะทาง 123 กิโลเมตร เชื่อว่าถนนสายนี้สร้างเมื่อ 700 ปีมาแล้ว เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์อาจถือว่าเป็นทางหลวงแผ่นดินสายแรกของประเทศไทย
เขื่อนสรีดภงค์ และแหล่งต้นน้ำในอดีต สรีดภงค์ คือ ทำนบกั้นน้ำ หรือเขื่อน ในสมัยโบราณคือ ทำนบพระร่วง เป็นคันดินกั้นน้ำระหว่างเขาพระบาทใหญ่ และเขากิ่วอ้ายมา น้ำในเขื่อนจะถูกส่งไปตามคลองสู่กำแพงเมืองไหลเข้า สระตระพังเงิน ตระพังทองเพื่อใช้สอยในเมือง และพระราชวังในสมัยสุโขทัย ปัจจุบันกรมชลประทานได้บูรณะซ่อมแซม ขึ้นใหม่ สำหรับแหล่งต้นน้ำในอดีตเรียกว่า โซก (คือ ลำธาร) ที่สำคัญได้แก่ โซกพระร่วงลองพระขรรค์ โซกพระร่วงลับพระขรรค์ โซกพม่าฝนหอก โซกชมพู่ (รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จประพาสในเที่ยวเมืองพระร่วง) ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลมาจากเขาประทักษ์
นอกจากนั้นทางอุทยานฯ ได้จัดทำ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ โดยเริ่มจากที่ทำการอุทยานฯ ผ่านสวนสมุนไพร ป่าดิบแล้ง ไทรงาม ชั้นดิน ชั้นหิน เป็นต้น ไปสิ้นสุดที่น้ำตกหินราง ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง โดยทางอุทยานฯ ได้จัดทำป้ายสื่อความหมายต่าง ๆ ของป่าเป็นระยะ ๆ
ข้อควรแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยว
- ทางอุทยานฯไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นยอดเขาหลวงหลังเวลา 15.30 น.
- ด้านบนยอดเขานารายณ์มีเฉพาะอาหารแห้งจำหน่าย ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปค้างแรมด้านบนควรเตรียมอาหารให้เพียงพอ
- ก่อนการเดินทางนักท่องเที่ยวควรสำรวจความพร้อมทางร่างกาย และจำเป็นต้องเตรียมอุปกรณ์สิ่งของจำเป็นไปด้วย เช่น เสื้อกันหนาว หมวก ไฟฉาย ยา อาหารแห้ง เป็นต้น เนื่องจากไม่สามารถซื้อของเหล่านี้ได้
อัตราค่าเข้าอุทยานฯ นักท่องเที่ยว ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท ในกรณีที่นักท่องเที่ยวใช้บริการลูกหาบขึ้นยอดเขาหลวงราคากิโลกรัมละประมาณ 10 บาท โดยสามารถติดต่อได้ที่อุทยานฯ
สถานที่พัก
ทางอุทยานฯ มีบริการบ้านพักไว้สำหรับนักท่องเที่ยว จำนวน 3 หลัง พักได้ 6-10 คน ราคา 500 บาท/คืน และมีเต็นท์ให้เช่า พักได้ 2-8 คน ราคา 50–200 บาท/คืน ในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์ ราคาคนละ 30 บาท/คืน
ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติรามคำแหง ตู้ ปณ. 1 อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย 64160 โทร. 055-910000 หรือติดต่อกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 02-5620760
สำรองที่พักทางเว็บไซต์ที่ http://www.dnp.go.th |