วัดบางไผ่ เป็น วัดพระอารามหลวง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมอีกแห่งหนึ่ง ภายในวัดยังประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างถาวรวัตถุ พระพุทธรูปทองคำที่ศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่ในอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่ 38 ไร่ ได้ก่อตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2309 สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นโดยแม่ทัพนายกองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เดิมทีบริเวณนี้เต็มไปด้วยดงกอไผ่ สมเด็จพระญาณสังวร ( เจริญ สุวฑฺฒโน ) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เสด็จเป็นประธานวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันจันทร์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2534 เวลา 15.19 น. และพระองค์ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามาภิไธยย่อ ม.ว.ก. ติดที่หน้าพระอุโบสถ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2534 ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถหลังใหม่ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 10.70 เมตร ยาว 28.90 เมตร พื้นปูด้วยหินอ่อน บานหน้าต่างและประตูเป็นลวดลายไทยปิดทอง ประดับกระจกบริเวณข้างพระอุโบสถมีศาลารายล้อมรอบทั้งสี่มุม ภายในศาลารายเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยทุกศาลา ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศรีนพรัตนมุนี ซึ่งเป็นองค์พระประธาน พระพุทธรังสีมงคล พระพุทธรัตนมงคล สมเด็จพระโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานผ้าทิพย์ประดับพระนามาภิไธย ย่อ ม.ว.ก. หน้าพระประธาน นอกจากนี้ยังมีพระพุทธชิรญานมงคลพระแก้วมรกตทรงเครื่องฤดูร้อน จำลองพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเพื่อเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน ผนังภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระพุทธประวัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในส่วนของประตูและหน้าต่างประดับด้วยลวดลายแกะสลักอย่างงดงาม ลักษณะเด่นของวัดที่เห็นได้ชัดเจนในระยะไกลนั่นก็คือ "กำแพงวัด" ที่มีลักษณะสร้างเลียนแบบป้อมปราการของทหาร มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 ป้อม หลวงพ่อทองคำ พระประธานในพระอุโบสถหลังเก่าพระพุทธรูปโบราณอายุหลายร้อยปี เชื่อกันว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นผู้จัดสร้างขึ้นแล้วนำล่องเรือมาเพื่อหลบหนีจากภัยสงครามพม่า มาประดิษฐานไว้ที่วัดบางไผ่แห่งนี้ ซึ่งไม่มีใครทราบมาก่อนว่าภายในองค์พระเป็นเนื้อทองคำขนาดหน้าตัก 24 นิ้ว พระพุทธรูปในวิหาร พระประธานอยู่ในวิหารเป็นพระพุทธรูปเก่าศิลปะสมัยอู่ทอง หน้าตักกว้าง 36 นิ้ว ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในชุมชนบางไผ่และชุมชนใกล้เคียง หลวงพ่อวิหาร พระประธานปางมารวิชัยที่ประดิษฐานในพระวิหารหลังเก่า ความเป็นมาสร้างพร้อมกับวัด เป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลังคามุงกระเบื้อง ภายในประดิษฐานพระแก้วมรกตทรงเครื่องหน้าฝน พระประจำวันเกิด ถาวรวัตถุอื่น ๆ หอพิพิธภัณฑ์ ศาลาราย เจดีย์ หอระฆัง หอกลอง มณฑป เป็นต้น ปัจจุบันยังประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหลังเก่าเปิดให้ประชาชนมากราบไหว้
ทั่วโลก annaontour