วัดเพลง เป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ตำบลบางขนุน ริมคลองวัดสักใหญ่ สามารถเข้าทางวัดสักใหญ่ สันนิษฐานตามลักษณะสถาปัตยกรรม และลายปูนบนพื้นที่เหลืออยู่ว่า สร้างขึ้นในสมัยพระนารายณ์มหาราชและอาจมีสภาพเป็นวัดร้างมาตั้งแต่สมัยสงครามระหว่างไทยกับพม่าเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 โดยทัพพม่าจากทางใต้มีมังมหานรธา เป็นแม่ทัพนำทัพผ่านเมืองนนทบุรี ได้ตั้งค่ายรบสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเขมาภิรตารามและทำการรบกับอังกฤษ ซึ่งขันอาสาไทยรบกับพม่า ผู้คนเกิดกลัว หนีพม่าไปจนทำให้วัดร้าง นางสาย เลี่ยมนุช ปัจจุบันอายุ 90 ปี ผู้เช่าที่ดินของวัดจากกรมศาสนาทำสวนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2485 เล่าว่าได้ยินผู้คนในแถบนั้น เล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมวัดเพลง มีชื่อวัดทองเพลง และมีคำกล่าวถึงวัดอยู่เสมอว่า "วัดทองเพลงต้มเหล้ากินเอง ปีหนึ่งรับกฐินสองไตร" หมายความว่าปีหนึ่งที่วัดเพลงแห่งนี้จะได้รับกฐินจากกรุงศรี (ชาวเมืองนนทบุรี เรียกกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้นว่า เมืองบน) และจากชาวบ้านชุมชนรอบวัด นับเป็นวัดที่มีสิทธิพิเศษมาก ซึ่งปกติวัดแต่ละวัดจะได้รับกฐินเพียงครั้งเดียว โบราณสถานที่สำคัญมีดังนี้ พระอุโบสถหลังใหญ่ สูงมาก ขนาด ๖ ห้อง ตรงมุมย่อมุมไม้สิบสองเสา ซุ้มประตูประดับลายปูนปั้นงดงาม คานไม้ตรงซุ้มประตูเป็นไม้มีลวดลายลงรักปิดทองกนกเปลวเพลิง ฝาผนังด้านในและพระประธาน ยังมีร่องรอยจิตรกรรม หลงเหลืออยู่รางๆ เป็นลายดอกไม้ร่วงบนพื้นสีแดง สภาพอุโบสถชำรุดมาก เหลือเพียงฝาผนังทั้งสี่ด้านไม่มีหลังคา บานประตูหน้าต่างมีต้นไทรปกคลุมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รากไทรได้ยึดฝาผนังไว้ไม่ให้พังลงมามองดูคล้ายปราสาทของขอม พระอุโบสถประดิษฐานหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปสูง ปางมารวิชัย ทำด้วยหินทรายแดง หุ้มปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง ๓ ใน ๔ ของความกว้างพระอุโบสถ พระพุทธลักษณะของพระพักตร์ พระโอษฐ์ และพระเกศ เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยอู่ทอง มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนในชุมชน ในระหว่างพรรษาของทุกปีทางวัดแก้วฟ้า (ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน) ได้จัดพระสงฆ์ สามเณร ไปจุดธูปเทียนพรรษาบูชาอยู่เสมอ ใบเสมา ทำจากหินทรายแดง ตั้งอยู่ตามมุมพระอุโบสถ เหลือเพียงแท่นฐานตั้งอยู่บนฐานขาสิงห์โหย่ง ๔ ฐาน ส่วนใบเสมานั้น วัดสักใหญ่ได้มาขุดออกจากฐานนำไปเก็บไว้ที่วัดสักใหญ่ เพื่อใช้เป็นใบเสมา ตั้งรายรอบพระอุโบสถหลังใหม่ แต่ไม่สามารถตั้งขึ้นบนฐานที่สร้างวัดใหม่ จึงกองทิ้งไว้ในบริเวณวัดสักใหญ่ ใบเสมาบางอันยังมีสภาพสมบูรณ์เห็นลวดลายชัดเจนและอีกหลายอันแตกออกเป็นชิ้น หอระฆัง เป็นหอระฆังเล็กๆ ตั้งอยู่ทางขวาของพระอุโบสถ เดิมมียอดและบันได ปัจจุบันเหลือแต่เพียงซากปรักหักพัง
ทั่วโลก annaontour