อุทยานแห่งชาติเอราวัณ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอเมือง อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 550 ตารางกม. หรือ 343,750 ไร่
ข้อมูล เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความสวยงามมากเหมาะแก่การพักผ่อน ในรูปแบบด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการล่องแพ การเดินป่า การเที่ยวชมน้ำตก ท่านสามารถหาความสุขที่อุทยานแห่งชาตินี้ได้ทุกฤดูกาล ประวัติความเป็นมา สมัย ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้มีมติการประชุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 ให้กระทรวงเกษตร ( กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน ) ดำเนินการจัดตั้งป่าเทือกเขาสลอบ ท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2504-2515 โดยใช้บริเวณน้ำตกเอราวัณเป็นศูนย์กลางสำรวจ พบว่าบริเวณป่าเทือกเขาสลอบ จังหวัดกาญจนบุรี มีธรรมชาติที่สวยงามเป็นพิเศษและมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ตามรายงานผลการสำรวจอุทยานแห่งชาติเขาสลอบ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 ของ นายวิจารณ์ สาระนาค นักวิชาการป่าไม้โท แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตหวงห้ามที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน ในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอวังขนาย อำเภอบ้านทวน และอำเภอวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 ลงวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2481 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ดังนั้นกรมป่าไม้จึงรายงานให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือ ที่ กษ 0705/20251 และ 20252 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ขอเพิกถอนพื้นที่เขตหวงห้ามที่ดินบางส่วนที่เป็นป่าเทือกเขาสลอบเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่ง คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2517 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 เห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติได้ และให้ใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ตามความนิยมและคุ้นเคยของประชาชนที่รู้จักน้ำตกเอราวัณเป็นอย่างดี กระทรวงกลาโหมแจ้งไม่ขัดข้อง ตามหนังสือกระทรวงกลาโหม ที่ กห 0318/23505 ลงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2517 และกระทรวงมหาดไทยไม่ขัดข้อง กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการขอเพิกถอนที่ดินหวงห้ามบริเวณดังกล่าว โดยมีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนที่ดินหวงห้ามดังกล่าว ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2518 และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาสลอบในท้องที่ตำบลไทรโยค ตำบลท่าเสา ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค ตำบลหนองเป็ด ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ และตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบรี ให้เป็น อุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2518 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 92 ตอนที่ 114 ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2518 เป็น อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 12 ของประเทศ สอบถามรายละเอียดอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี 71250 โทรศัพท์ 0-3457-4222 , 0-3457-4234
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงที่น่าสนใจ - น้ำตกเอราวัณ เป็นน้ำตกที่มีระยะทางยาวประมาณ 1,500 เมตร ติดต่อกัน ซึ่งแบ่งออกเป็นชั้นๆ ได้ 7 ชั้น เป็นน้ำตกที่มีความงดงามเหมา ะแก่การพักผ่อนเป็นอย่างมาก ซึ่ง ชั้นที่ 7 อันเป็นชั้นบนสุดของน้ำตก เมื่อมีน้ำตกไหลบ่าจะมีรูปคล้าย หัวช้างเอราวัณ จนคนทั่วไปรู้จักและขนานนามว่า น้ำตกเอราวัณ - น้ำตกผาลั่น เป็นน้ำตกชั้นเดียว จะมีน้ำเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น - ถ้ำวังบาดาล อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 54 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 323 ตรงหลักกม.ที่ 63 เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 2 กม. ถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ( วังบาดาล ) แล้วเดินทางต่อไปอีก 1 กม. จะถึงปากถ้ำ ลักษณะของถ้ำวังบาดาล เช่น ถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ปากทางเข้าเป็นห้องเล็กๆ มีหลายห้อง ห้องชั้นล่างมีน้ำไหลผ่านและมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ด้วย นอกจากนี้แต่ละห้องยังมีความงามของ หินงอกหินย้อย เช่น ห้องม่านพระอินทร์ จะมีลักษณะหินย้อยลงมาคล้ายกับม่าน ห้องเข็มนารายณ์ มีลักษณะคล้ายเข็มแท่งใหญ่ ซึ่งวิจิตรงดงามมาก - ถ้ำตาด้วง เริ่มจากจังหวัดกาญจนบุรี ไปตามเส้นทางที่จะไปเขื่อนศรีนครินทร์จนถึงบ้านถ้ำพระธาตุ แล้วเลี้ยวซ้ายไปยังอำเภอไทรโยค ประมาณ 2 กม. จะมีทางแยกขวาเข้าหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นทางติดกับแม่น้ำแควและสามารถเข้าไปยังด้านหลังเขื่อนท่าทุ่งนาได้ ระยะทางประมาณ 2 กม. จะถึงเชิงเขาที่มีถ้ำตาด้วง จากนั้นต้องเดินขึ้นเขา ซึ่งค่อนข้างชันมากไปอีก 800 เมตร เนื่องจากถ้ำนี้มีหินถล่มลงมาปิดปากถ้ำ จึงไม่สามารถเข้าไปได้ แต่ลักษณะเด่นของถ้ำนี้มี ภาพเขียนอยู่ที่ผนังปากถ้ำเป็นรูปคนและต้นไม้ นอกจากนี้ยังพบเศษเครื่องใช้สมัยโบราณยุคหินใหม่ เช่น เศษถ้วย ไห เป็นต้น - ถ้ำหมี เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีอากาศถ่ายเทพอควร ( จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในอดีต ถ้ำนี้เคยเป็นที่อยู่ของหมี ทำให้เรียกกันต่อๆ มาว่า ถ้ำหมี ) ภายในถ้ำแบ่งเป็นห้องลดหลั่นเป็นชั้นๆ ได้ 8 ห้อง แต่ละห้องจะปรากฏรูปร่างและสีแปลกตา มี หินงอกหินย้อย ตามผนังถ้ำ สวยงามพอสมควร ท่านสามารถเดินทางจากจังหวัดกาญจนบุรีไปยังบ้านถ้ำพระธาตุ แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอไทรโยค จนถึงทางเข้าบ้านทับศิลา บริเวณหลักกม.ที่ 10 แล้วเดินทางไปตามทางลูกรังอีกไกล จะถึงบ้านทับศิลาและเข้าซอยสามัคคีธรรม 10 จนถึงคลองตะเคียน จากจุดนี้ เดินเท้า ไปตามเส้นทางชักลากไม้เก่าต่อไปอีก 7 กม. ก็จะถึงถ้ำหมี - ถ้ำเรือ เริ่มจากซอยสามัคคีธรรม 10 ข้ามคลองตะเคียนไปประมาณ 200 เมตร จะมีทางเลี้ยวขวา ซึ่งรถยนต์จะสามารถแล่นเข้าไปได้ประมาณไม่เกิน 500 เมตร จากนั้นต้อง เดินเท้า เข้าไปอีกประมาณ 1 กม. ก็จะถึงถ้ำเรือ ซึ่งเป็นถ้ำที่มีความลึกประมาณ 40-50 เมตร ไม่มีหินงอกหินย้อย แต่จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ ภาชนะที่ใช้รองน้ำสมัยโบราณวางอยู่ ภาชนะนั้นทำจากต้นไม้ทั้งต้น มาเจาะให้มีลักษณะคล้ายเรือ ส่วนหัวตกแต่งเป็นรูปหัวคน มีตา , จมูก และหู 2 ข้าง ซึ่งช่วยค้ำไม่ให้พลิกเอียง ปัจจุบันสภาพของภาชนะแตกหักเหลือที่สมบูรณ์เพียงไม่กี่อัน และมีมูลค้างคาวปกคลุมอยู่เป็นส่วนใหญ่ นับเป็นถ้ำที่มีค่าทางอารยธรรมของมนุษย์อีกแห่งหนึ่ง
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่าน จ.นครปฐม ขับมาประมาณ 9 กม. จะพบสะพานลอยข้ามไปทาง จ.กาญจนบุรี ขับไปตามทางหลวงหมายเลข 323 ขับมาประมาณ 7 กม. ท่านจะพบสี่แยก ให้ท่านเลี้ยวขวา ( แยกซ้ายไปบ้านโป่ง ตรงไปคือถ้ำค้างคาว) เพื่อไปยัง อ.เมืองกาญจนบุรี จากนั้นมุ่งหน้าสู่สี่แยกแก่งเสี้ยน ให้ขับไปทางเส้นทางหลวงหมายเลข 3199 อ.ศรีสวัสดิ์ถึงเขตการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขื่อนศรีนครินทร์ ข้ามสะพานไปยังตลาดเขื่อนศรีนครินทร์แล้วจึงเลยเข้าไปยังที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 66 กม.
ทั่วโลก annaontour